นั่นคือ ดอกพุดตาล หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ดอกสามสี ตอนผมไปซื้อมาจากร้านดอกไม้ผมก็งงเลยที่คนขายบอกว่าดอกสามสี แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วครับว่าทำไมเรียกดอกสามสี เพราะตอนเช้า จะมีสีขาว จากนั้นสีก็จะเริ่มเข้มมากขึ้น จนในช่วงบ่ายๆ จะเห็นเป็นสีชมพูอ่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนมืดค่ำก็จะเห็นดอกพุดตานเป็นสีชมพูเข้มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของดอกสามสีครับ
จึงเป็นดอกไม้มหัศจรรย์เลยที่เดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีไปตามการได้รับแสงแดด จากขาว --- ชมพูอ่อน -- ชมพูเข้ม และหากสังเกตุดอกที่เริ่มเหี่ยวเฉาก็จะเป็นสีม่วงครับ
ลองมาชมดอกพุดตาล หรือ ดอกสามสีกันดีกว่าครับ ภาพทั้งหมดนี่ผมถ่ายเอง ไปเฝ้าดูดอกไม้ตามที่คนขายบอกว่าเปลี่ยนสี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นครับ
ภาพนี้ดอกสีขาว ถ่ายเวลาประมาณ 9 โมงเช้า
ดอกสีชมพูอ่อนด้านบน ถ่ายในเวลาประมาณบ่ายโมงกว่า 13.45
ดอกสีชมพูเข้ม ถ่ายในช่วงเวลา เกือบ 18.00 น. มืดแล้วจึงต้องใช้แฟลชช่วยครับ
ส่วนภาพด้านล่างก็ช่วงบ่าย 13.45 เวลาประมาณนั้น สีชมพูอ่อนสวยดีครับ
ส่วนด้านล่างเป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพุดตาน หรือต้นดอกสามสีครับ
ความรู้เพิ่มเติม
ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus mutabilis L.
ชื่อวงศ์: Malvaceae ชื่อสามัญ: Rose of Sharon, Cotton rose hibiscus,Changeable rose mallow, Confederate rose mallow
ชื่อพื้นเมือง: ดอกสามสี ดอกสามผิว
ลักษณะทั่วไป:
ต้น ไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเทา มีขนปกคลุม
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 9-20 เซนติเมตร ยาว 10-22 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเว้าลึก 3-5 แฉก แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างหนา มีขนปกคลุมทั่วใบ สากมือ
ดอก สีขาว ชมพูและชมพูเข้ม ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขน กลีบดอกมีทั้งแบบชั้นเดียว หรือซ้อนกัน กลีบดอกเปลี่ยนสีไปตามอุณหภูมิของวัน ในตอนเช้าสีขาว กลางวันสีชมพู และตอนเย็นเป็นสีชมพูเข้ม ยอดเกสรเพศเมียสีเหลือง ขนาด 8-12 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่กว้าง 8-12 เซนติเมตร
ฝัก/ผล ผลแห้ง ทรงกลมมีจะงอย ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วแตกเป็น 5 แฉก
เมล็ด เมล็ดรูปไต มีขนยาว
ฤดูกาลออกดอก: ออกดอกดกตลอดปี
การปลูก: ปลูกบังกำแพง หรือทิวทัศน์ที่ไม่น่าดู
การดูแลรักษา: ชอบอยู่ตามที่ดอนกลางแจ้ง แสงแดดจัด ไม่ชอบที่แฉะหรือมีน้ำขัง ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง
การขยายพันธุ์: ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง
การใช้ประโยชน์:
- ไม้ประดับ
- สมุนไพร
ถิ่นกำเนิด: ประเทศจีน
สรรพคุณทางยา:
- ใบแห้งผสมกับน้ำผึ้งใช้ทารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้
- ราก ใช้ต้มกินหรือใช้รากฝนทา เป็นยารักษาอาการประดง รักษาโรคผื่นคันตามผิวหนัง และอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามร่างกาย
ส่วนที่ใช้ : ใบสด หรือใบตากแห้ง ดอก เก็บดอกตอนเริ่มบานเต็มที่ รากเก็บได้ตลอดปี ตากแห้งหรือใช้สดก็ได้
- ยารักษาคางทูม
- ยาถอนพิษ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลมีหนอง
- ยาแก้งูสวัด
สารเคมี
ใบ มี Flavonoid glycosides , phenol, amino acid, tannin
ดอก มี Flavonoid glycosides
Flavonoid glycosides จะมีปริมาณเปลี่ยนไปตามสีของดอกไม้เมื่อบานเต็มที่ สีแดงจะมี anthocyanin ในตอนที่ดอกมีสีแดงเข้ม จะมีปริมาณของ anthocyanin เป็น 3 เท่าของตอนที่มีดอกเป็นสีชมพู