ช่วงที่ไปนี้ข้าวในท้องนาก็กำลังสุก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแหลือง มองเห็นแล้วมีความสุขอยากมากก็เลยหยิบมือถือถ่ายรูป ท้องทุ่งนาที่กำลังเปลี่ยนสีจากสีเขียวมาเป็นท้องนาสีเหลืองทองของข้าว
แต่กว่าจะได้แบบนี้ ชาวนาก็ต้องเหนื่อยยากตรากตรำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เพราะกระบวนการทำงานในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังใช้แรงงานคน และต้องจ้างเป็นส่วนมาก ขั้นตอนตั้งแต่ การเตรียมดินไถกลบฟาง (บางส่วนก็ยังชอบวิธีการเผา) จากนั้นก็สูบน้ำจากคลองเข้านา และตีเลน (ทำให้ดินละเอียด ไม่เป็นก้อน ช่วงนี้ก็ต้องต่อคิวรถ เสียตังค์นะ) สำหรับการหว่าน ระว่างนี้ก็ต้องเตรียมแช่ข้าวเปลือก หรือเมล็ดพันธุ์ข้าว ประมาณ 2 วัน ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำไปหว่าน ช่วงนี้ก็ต้องคุมน้ำไม่ให้มาก หรือน้อยจนแห้ง ถ้ามากก็ต้องเอาออก น้อยไปก็ต้องสูบเข้า)
หลังจากการหว่านก็รอเวลาข้าวงอก เจริญเติบโต (หากไม่งอกหรืองอกไม่ดีก็จะต้องไปซ่อมใหม่ หว่านอีกครั้ง) ช่วงนี้การหว่านข้างของที่บ้านก็อาศัยการจ้างคนหว่าน (ช่วงนี้ก็เสียตังค์เหมือนเดิม) รอข้าวงอกเติบโตประมาณสองอาทิตย์เริ่มใส่ปุ๋ย เสียตังอีกแล้ว ก็ต้องมาดูแลน้ำ ให้พอเหมาะเป็นระยะ รวมทั้งเอาใจใส่ในการดูแลวัชพืช ฉีดยาใส่ปุ๋ย (ต้องจ้างเขาเหมือนเดิม) ต้องดูแลข้าวดีด ข้าวที่โตผิดปกติเมล็ดลีบโดยการตัดออก ตากแดดตากฝนเช่นเดิม
จากนั้นก็ไปดูเป็นระยะ ทั้งปุ๋ย ทั้งน้ำเพื่อให้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อทำการเพาะปลูกประมาณ 4 เดือน ก็ถึงหน้าการเก็บเกี่ยว เราก็จะได้พบกับท้องทุ่งนาสวยๆ บรรยากาศดี หน้าเซลฟี่ที่สุด แต่ช่วงเก็บเกี่ยวหากมีพายุเข้ามา หรือน้ำท่วม ก็ต้องเร่งเกี่ยวก่อนกำหนดอีกต่างหาก เพราะปล่อยไว้ก็จะเสียหายมากกว่าเดิม (ได้น้อยดีกว่าไม่ได้ เขาว่าอย่างนั้น) ปัจจุบันข้าวนาปรังที่บ้านผมขายได้ก็จะอยู่ตันละ หกพันเก้าร้อยกว่าๆ ถือว่าได้น้อยครับ
จะเห็นว่ากว่าจะได้ข้าวมานั้น ช่างยากลำบาก ต้องสู้และต้องอดทนมาก ดังนั้นหากใครรับประทานข้าวแล้วก็ขอให้ทานให้หมด ทานพอประมาณจะได้ไม่เหลือทิ้ง...เป็นมลภาวะแก่โลก รวมทั้งประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย
หากใครต้องการบรรยากาศแบบนี้ก็ต้องไปตามทุ่งนา แต่ถ้าเวลานี้กันยายน ก็คงจะเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นหน้ามรสุม ส่วนข้าวนาปีก็คงยังเขียวขจีอยู่ ข้าวนาปีจะสุกสีเหลืองอร่ามก็คงในช่วงต้นหนาว ธันวาคม มกราคม ครับ ลองชมทุ่งนาและรวงข้าวกันดูนะครับ