ตอนที่ 2
ยุคพระครูวินัยธร (พิศ ปรกฺกโม) ถึง พระวิทยา จิตฺตธมฺโม
ผมมีเพื่อนรุ่นพี่ชื่อ "ไอ้ถึก" หรือ "จ่าถึก" เป็นญาติสนิทของ นายเสริมศักดิ์ การุญ ส.ส.ระยอง มีชื่อจริงว่า
"ทองอยู่ รอบรู้" ในภายหลังเคยป้อนข้าวป้อนน้ำยามผมตกยาก เป็นผู้พาผมไปรู้จักกับ "พระอาจารย์สุกรี"
ที่วัดจุฬามุนี เมื่อราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา
ชาติตระกูลของท่านเป็น "เพชฌฆาต" ตัดคอนักโทษมานับไม่ถ้วนแล้ว ก่อนหักมุมชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลวงพ่อสุกรีของผมเล่าว่า เคยผ่านเย็นร้อนอ่อนแข็งมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ กรอกแม่โขงเข้าปากเป็นขวดๆ ก่อนเข้าประตูโบสถ์วันรุ่งขึ้น ดำดินมาอยู่ระยองพรรษาแรกๆ คนระยองตั้งแต่เจ้าเมืองลงมาถึงคนถีบสามล้อมองว่าท่านเป็นพระบ้า ดูจะไม่ต่างกับ "พระวิทยา จิตตธมโม" นักดอก ซึ่งก็กรอกเหล้าเป็นขวดๆ
ก่อนเข้าโบสถ์เช่นกัน คนอย่างนี้ถือเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับพระองคุลิมาล มาเฟียกลับใจที่บรรลุ
เป็นพระอรหันต์เรื่องหลวงพ่อสุกรี เขียนไว้แค่นี้ก็เหลือเกินแล้ว หากท่านสนใจไปสืบค้นเอาเอง
สิ้นท่านชุมพลก็มาถึงท่านพิศ ศิษย์สำนักจุฬามุนี
"อาจารย์ชุมพล" เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเขาสาป คนคนอายุสั้น มีอายุเพียง 45 ปี แต่มี พรรษายาวถึง 20 พรรษา สั้นทางโลกแต่ยาวทางธรรมอย่างนี้เรียกว่า คนมีบุญวาสนา อาจารย์ชุมพลเป็นพระนักพัฒนาหาตัวจับยาก
"อาจารย์พิศ" เป็นคนปักษ์ ใต้ใจเด็ด เป็นนักเทศน์ฝีปากเอก หลวงพ่อสุกรีส่งมาเป็นเจ้าสำนักวัดเขาสาปเมื่อกลางปี 2524 เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สอง เป็นคนปัญญาดีมีสายตายาว จับมือกับ นายอุทัย เจริญสวัสดิ์ นักต่อสู้คู่บารมีวิ่งเต้นขออนุญาตกรมการศาสนา เปิดโรงเรียนเด็กเล็กก่อนเกณฑ์ (อนุบาล) ตั้งแต่ปี 2524 โดยมี นายเฉียม ชลศิริ เป็นมือขวา ครั้นต่อมาปี 2528 นายอุทัยก็หนุนท่านพิศให้ เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา "มงคลวิทยา" กรมการศาสนาอนุญาต
ลงวันที่ 30 เมษายน 2528
เตรียมสามเณรไว้เข้าเรียน ม.1 จำนวน 20 รูป โดยมี พระมหาพิศ ทิฏฐธมโม สำนักวัดราชาธิวาส
เป็นครูใหญ่ เหมือนฟ้าผ่า ความฝันกระจุยกระจาย...งานสร้างวัด-สร้างคน ก็ต้องวางมือ ท่าน"ท่านพิศ" จำใจ
ต้องลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเตลิดเปิดเปิงหนีอิทธิพลมืดหายหน้าไปนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2528
เรื่อยมา.
หาดแม่รำพึงนับจากก้นอ่าวเขาแหลมหญ้ามายันหาดตะพงยาว 10 กิโลเมตรเศษ เป็นหาดเปิด คลื่นลมแรงมี "เขาสาป" โผล่ขึ้นมาเป็นศิลปินเดี่ยวระหว่างกลาง ห่างหาดทรายแค่ 200 เมตร หินรากของเขาสาปไปโผล่พ้นน้ำที่ปากคลองสาป ขาวโพลง เรียกกันว่า "หินขาว" เป็นอู่ข้าวของชาวประมง 40 หลังคาเรือน
เมื่อทางหลวงจังหวัดตัดเลียบหาดแม่รำพึงจากแยกตะพงตรงมาถึงโค้งแหลมหญ้า ราคาที่ดินหน้าทะเลก็พุ่งกระฉูด จากไร่ละร้อยละพัน ดันพรวดๆ ขึ้นเป็นแสนๆ ยิ่งที่เชิงเขาเชิงภูอย่างเขาสาปด้วยแล้ว ใครๆ ก็อยากมาสร้างวิมานแดนสรวง เสพสุขสังวาส...
เรื่องราวของวัดเขาสาปมันเหมือนนวนิยาย 100 ตอนจบ เป็นวัดเล็กๆ แต่ลี้ลับ คนระยองเองอยู่ใกล้แค่คืบ
แค่ศอก ยังไม่ค่อยจะรู้อะไร จึงมักมีแต่คนไกลเข้าวัด ก็แค่ชื่อวัดว่า "เขาสาป" คนก็หนาวแล้ว "ปู่เหล็ก"
บ้านหนองตาอินทร์ อยู่ด้านทิศตะวันออกของเขา ท่านกำชับลูกหลานสั่งนักสั่งหนาว่า "มึงอย่าไปเอาหินที่เขาสาปออกมาเชียวนา มึงจะตายทั้งเป็น" ครับ..หลานปู่เหล็กยืนยันอย่างนั้น เอาล่ะ ครั้นวัดเขาสาปว่างเจ้าอาวาส
ลง งานโรงเรียนเด็กเล็กก็ต้องชะงัก งานโรงเรียนสามเณรก็ต้องรอ...ชาวบ้านบ้านจำรุงก็ดี พระสงฆ์องค์เจ้าผู้บริหารคณะสงฆ์ก็ดี ต่างก็เกิดความสับสนอลเวง เพราะเกิด "สุญญากาศ"ขึ้นฉับพลันเมื่อท่านพระครูวินัยธร พิศ ปรกกโม จากไป
ในที่สุดก็มีคณะชาวพุทธกลุ่มหนึ่งตั้งตัวเป็นผู้สรรหาเจ้าอาวาสองค์ใหม่ก็ได้พระวิทยา จิตฺตธมฺโม ศิษย์สำนักวัดสารนาถธรรมาราม สามย่าน อำเภอแกลง ซึ่งเป็นสำนักของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ
"พระวุฒิสารโสภณ"(ไฉน ฐิตภิญโญ) เจ้าคณะจังหวัดระยอง (ธ) มาทำหน้าที่บริหารวัดเขาสาป
"มันฝืนความรู้สึกน่ะโยม อาตมาเตรียมถุงตะเครียวจะออกป่า
อยู่แล้ว ถ้าญาติโยมไปหาอาตมาช้าไป 1 เดือนก็คงไม่เจอตัว…
" พระหนุ่ม เจ้าอาวาสองค์ที่สามของวัดเขาสาปเล่าให้ฟัง จบ ม.ศ.5 โรงเรียนแกลง "วิทยาสถาวร" รุ่นก่อนเจ้าหนุ่ย "อำพล ลำพูน"
สองสามรุ่น หลังจากลุยงานโรงแรมที่พัทยามาจนจบหลักสูตรโลกีย์
2 ปีแล้วก็กลับมาบวชให้แม่ให้พ่อ สาวน้อยนางหนึ่งเธอต้องรอ รอ ๆ ๆ พรรษาเดียวนะ ว่าจะสึก แต่ไม่สึก กลับส่ายหาสถานที่วิเวก หวัง
ปลุกเสกตัวตนมุ่งนิพพาน เพราะ ณ สำนักวัดโพธิฐาน ทุ่งควายกิน
มีตำราพระไตรปิฎกปิดประตูอ่านทั้งวันทั้งคืน จึงตัดสินใจเดินธุดงค์
มุ่งตัดตรงจากเขาชะเมา สู่อีสานวัดป่าสุทธาวาส
สำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเถระ ลำพังตน ไม่ลังเลถอยหลัง...
เมื่อพระวิทยามาอยู่วัดเขาสาป ก็ศึกษาข้อมูลความเป็นมา เสร็จแล้วจึง
"วางหมาก" "วางหมาก" หรือ "วางแผน" เพื่อพัฒนาวัด พัฒนาคน
สานต่อสืบตำนาน ประกาศผางขึ้นกลางวงศาพุทธบริษัทว่าจะขอ
"สร้างคน" เป็นสำคัญ จะไม่รับสมณศักดิ์เป็นพระครูหรือเจ้าคุณ
เพื่อแลกกับผลงานเป็นอันขาด "ถ้าญาติโยมเห็นว่าอาตมารับพัดยศ
พระครูหรือเจ้าคุณเมื่อไหร่ ก็ขอให้เอาเท้ามาเหยียบหน้าได้เลย…" นี่คือคำพูดในห้องประชุมพ่อแม่นาคเณรที่มาชุมนุมกันที่วัดเขาสาปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2531 ก่อนจะถึงวันงานบรรพชา สามเณรในวันที่ 23 เมษายน 2531
ซึ่งข้าพเจ้า (ผู้เขียน) นั่งร่วมประชุมในฐานะเป็นวิทยากร พร้อมกับท่าน นายพลโทฉลอม วิสมล ส.ส.ระยองประธานฝ่ายประสานงานพิธีบรรพชาสามเณร โดยครั้งนั้นทางวัดได้เชิญ ฯพณฯ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี .
..
งานสร้างคนก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง
เมื่อพระวิทยาเข้ามาบริหารกิจการของวัด ย่อมต้องพบอุปสรรคนานาประการ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะต้องใช้จ่าย สามเณรที่นี่เข้ามาบวชฟรีเรียนฟรี ไม่มีค่าเล่าเรียนแม้แต่บาทเดียว
ถ้ามีความตั้งใจจริง เดินเข้าวัดแต่ตัวก็ย่อมได้... พระวิทยาได้รับความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งใกล้ทั้งไกล แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะที่นี่เป็นวัดกันดาร ต้องอุ้มชูดูแลสามเณรเป็นร้อยๆ ต้องจ้างครู
มาสอนเหมือนโรงเรียนราษฎร์โรงเรียนหนึ่งทีเดียว นี่คือภารกิจอันใหญ่หลวงที่พระหนุ่มองค์น้อยต้องแบกไว้อย่างเต็มกลืน... นับตั้งแต่ปี 2529 ผ่านมาครบ 6 ปี การศึกษาแล้ว มีสามเณรเรียนจบหลักสูตร ม.3 ดังนี้
รุ่นที่ 1 จบ 47 รูป
รุ่นที่ 2 จบ 32 รูป
รุ่นที่ 3 จบ 38 รูป
รุ่นที่ 4 จบ 25 รูป
สามเณรที่เรียนจบหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจะมีสิทธิ์เทียบเท่านักเรียนที่จบหลักสูตรสายสามัญของกระทรวงศึกษาธิการทุกประการ ฉะนั้น จึงมีสามเณรบางรูปเข้าศึกษาต่อในชั้นสูงต่อไป บางรูปลาสิกขาบทไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายบ้าง อาชีวศึกษาบ้าง และบ้างก็ออกไปทำงานบริษัท ห้าง ร้าน ฯลฯ และมีศิษย์เก่าวัดเขาสาปรุ่นแรกคนหนึ่ง ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประธานในพิธีบรรพชาสามเณรวัดเขาสาป
ปี 2529 นายวีระ มุสิกพงศ์ รมช.มหาดไทย
ปี 2530 นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรี
ปี 2531 พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี
ปี 2532 พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร รมว.มหาดไทย (ส่งนายฉลอง กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการปกครองมาแทน)
ปี 2533 นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
ปี 2534 นายพิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
ปี 2535 นายกนก ยะสารวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
(แหล่งที่มา http://www.oocities.org/watkhaosab/p1-01-2.htm)