30/03/2564

Easy to do-ร้อยมาลัย ไม่อยากอย่างที่คิด

 

          การร้อยมาลัย เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมไทยและความเป็นไทย ที่ทั้งสวยงามประณีตบรรจง และสื่อถึงความหมายในทางที่ดี
ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยที่เกิดจากฝีมือการประดิษฐ์ประดอยของผู้ร้อยมาลัยผสมผสานกับความงามของดอกไม้ กลีบดอกไม้ ใบไม้นานาพันธุ์ จนเกิดเป็นรูปแบบและลวดลายวิจิตรตระการตรา  มาลัยเป็นความงามที่บ่งบอกถึงความนุ่มนวล อ่อนโยน ความมีสมาธิของชนชาวไทย
          มาลัยกลม หมายถึง มาลัยที่ร้อยให้มีลักษณะรูปทรงตามขวางเป็นวงกลมและรูปทรงตามยาวตรงและขนานกันไปตลอดเข็ม นิยมร้อยตั้งแต่ขนาด 6 กลีบขึ้นไปจนถึง 12 กลีบ หรือมากกว่านี้ก็ได้ย่อมแล้วแต่ชนิดของดอกไม้ ถ้าดอกเล็กหรือกลีบเล็กก็ใช้จำนวนกลีบมาก แต่ถ้าดอกไม้ดอกใหญ่หรือกลีบใหญ่ก็ใช้จำนวนกลีบน้อย

          มาลัยชายเดียว เป็นมาลัยที่มีลักษณะเป็นพวงกลม มีอุบะห้อยลงมาเป็นชายเพียงจุดเดียว อาจเรียกว่า มาลัยมือ หรือมาลัยคล้องแขน ถ้าใช้ในการทูลเกล้าฯ ถวายจะเรียกว่า มาลัยข้อพระกร นอกจากนี้ ยังใช้บูชาพระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

อุปกรณ์
      - เข็มร้อยมาลัย  ด้าย กรรไกร วาสลีน ดอกไม้ที่ต้องการ อาจจเป็นดอกรัก กุหลาบ พุด มะลิ ฯลฯ และอาจจะมีคีมจับสำหรับเอาดอกไม้ออกจากเข็มได้ง่ายขึ้น


วิธีการร้อยมาลัยกลม (http://poopesirinapa.blogspot.com/)
      1. คัดเลือกดอกหรือกลีบดอกให้ขนาดเท่าๆ กัน
      2. การส่งกลีบหรือก้านดอก จะต้องให้ยาวเท่าๆ กันทุกกลีบ หรือทุกดอกทั้งในแนวเดียวกันและระหว่างแถวด้วย เพื่อให้มาลัยที่ร้อยเสร็จแล้วนั้นมีสัดส่วนและรูปทรงที่สวยงาม ดังนั้นในการร้อยดอกไม้แต่ละดอกหรือแต่ละกลีบ ควรจะต้องวัดก้านก่อนแทงใส่เข็ม
      3. ร้อยแถวแรกหรือชั้นแรกให้เป็นวงกลมจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน โดยเริ่มร้อยกลีบแรกเรียงจากซ้ายวนไปทางขวา ( ตามเข็มนาฬิกา) จนครบจำนวนกลีบตามต้องการ
      4. ร้อยแถวที่ 2 โดยวางกลีบให้สับหว่างกับกลีบในแถวแรกทุกกลีบ จนครบจำนวนกลีบเท่ากับแถวที่ 1





และแถวต่อๆ ไปก็ทำเช่นเดียวกัน ข้อควรระวัง คือทุกๆ แถวจะต้องมีจำนวนกลีบเท่ากัน
และสับหว่างกันทุกแถวด้วย ถ้าแถวใดจำนวนกลีบลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นแสดงว่าจะต้องร้อยสับหว่างผิด
      5. มาลัยกลมแบบไม่มีลายร้อยเรียงวนโดยรอบเข็มควรจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน เมื่อร้อยครบจำนวนกลีบในแถวที่ 1 ตามต้องการแล้วก็เริ่มร้อยแถวที่ 2 โดยกลีบแรกของแถวที่ 2 นี้จะต้องอยู่ระหว่างกลีบสุดท้ายและกลีบที่ 1 ของแถวที่ 1 และกลีบต่อๆ ไปก็ร้อยให้สับหว่างเช่นกันทุกแถวและจำนวนกลีบของแต่ละแถวก็ต้องเท่ากันด้วย
      6. มาลัยกลมแบบมีลาย ถ้าลายด้านเดียวจะขึ้นต้นจำนวนกี่กลีบก็ได้ แต่ถ้าเป็นมาลัยกลมแบบมีลายสองด้านจะต้องขึ้นจำนวนกลีบคู่เสมอ นิยมขึ้น 8 หรือ 10 กลีบ หรือมากกว่านั้น
( ถ้าเป็นมาลัยที่มีขนาดใหญ่) วิธีการร้อยก็เรียงวนโดยรอบเข็มเช่นกัน พอถึงลวดลายก็ร้อยกลีบที่มีสีต่างไปจากสีกลีบที่ร้อยเป็นพื้นอยู่เดิมแล้วนั่นเอง จะร้อยลายอะไรนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการหรือเห็นว่าสวยงามเหมาะสมเป็นสำคัญ

ประโยชน์ของมาลัย (http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/uthaithanee/tissana_m/malai/sec01p03.html)

         มาลัยมีมากมายหลายชนิด  แต่ละชนิดก็มีหน้าที่ใช้สอยต่าง ๆ กันไปตามโอกาสและความเหมาะสม  ดังนั้นก็จะกล่าวรวม ๆ กัน  มาลัยชนิดต่าง ๆ มีประโยชน์ดังนี้คือ

         1.ใช้สำหรับคล้องคอ เช่น คล้องคอเจ้าบ่าว-เจ้าสาว  ในงานแต่งงาน  การแสดงความยินดีหรือต้อนรับแขก  หรือเป็นเกียรติแก่ผู้มีชัยชนะในการประกวดต่าง ๆ  หรือสำหรับมอบให้กับบุคคลผู้มีชื่อเสียง  เพื่อเป็นการรับขวัญ  หรือเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความรักและศรัทธา  ความนิยมชมชอบ  เช่น  บุคคลสำคัญ  บุคคลดีเด่น  หรือดาราที่เป็นขวัญใจประชาชน

        2.ใช้สำหรับทูลเกล้าฯ  ถวายในการรับเสด็จในการเข้าเฝ้าตามโอกาสที่เหมาะสม  ส่วนใหญ่ก็นิยมใช้มาลัยคล้องมือ  ที่เรียกว่า  มาลัยข้อพระกร  หรือใช้สำหรับมอบให้แก่ประธานหรือแขกผู้ใหญ่ในงาน  เช่น  งานรดน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาว  งานมอบประกาศนียบัตร  งานมอบทุนต่าง ๆ  ซึ่งมักจะใช้มาลัยคล้องมือหรือมาลัยมือถือ

         3.ใช้สำหรับเป็นของชำร่วยแก่แขกที่มาในงาน  เช่น  งานรดน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาวในงานมงคลสมรสที่นิยมใช้คือ  มาลัยชำร่วยขนาดเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มหรือมาลัยตัวสัตว์ขนาดเล็กก็น่ารักและสวยงามดี

         4.ใช้ห้อยแทนเฟื่องดอกรัก  เช่น  มาลัยแบน  มาลัยกลม  มาลัยตัวหนอน  และมาลัยรี

         5.ใช้บูชาพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  เช่น  มาลัยชายเดียว  หรือมาลัยสองชาย   จะใช้ขนาดพวงเล็กใหญ่ขนาดใดย่อมแล้วแต่ความเหมาะสมเป็นสำคัญ

         6.ใช้แขวนหรือห้อยประดับเครื่องดนตรีไทยในเวลาที่จะเล่น  นอกจากนั้นยังเป็นการกราบระลึกถึงครูบาอาจารย์ผู้ที่ให้ความรู้และอีกประการหนึ่งก็เป็นมิ่งขวัญกำลังใจอีกด้วย  ที่นิยมใช้ก็คือมาลัยซีก  หรือมาลัยกลมขนาดเล็กมีอุบะห้อยเป็นชาย

         7.ใช้ในการประกอบท่ารำของการรำไทยบางชุด  เช่น  ฟ้อนมาลัย  รจนาเสี่ยงพวงมาลัย  หรือชุดเจ้าเงาะรจนา  ฯลฯ  ซึ่งก็นิยมใช้มาลัยชายเดียวพวงขนาดเล็ก  อาจจะเป็นมาลัยซีกหรือมาลัยกลมก็ได้

         8.ใช้ในพิธีบวงสรวงเทพยดาต่าง ๆ  เช่น  พิธีบวงสรวง  พิธีแก้บน  มักจะนิยมใช้มาลัยชายเดียว  มาลัยสองชาย  หรือมาลัยพวงดอกไม้ก็ได้  เช่น  มาลัยสามสี  มาลัยเจ็ดสีเจ็ดศอก

         9.ใช้สำหรับตกแต่งรัดมวยผม  เช่น  มาลัยซีกดอกมะลิ  หรือมาลัยซีกกลีบกุหลาบ

         10.ใช้ประดิษฐ์เป็นดอกไม้สำหรับจัดแจกัน  หรือจัดตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ  เช่น  มาลัยตุ้มใส่ก้านแข็งมาลัยซีกผูกมัดเป็นดอกไม้

         11.ใช้ในการคารวะผู้ที่เคารพนับถือ  ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  เช่น  ห้อยคล้องกรอบรูป  ซึ่งมักจะนิยมใช้มาลัยสองชายริบบิ้นสีดำหรือขาว

         12.ใช้ในการประดับตกแต่งงานดอกไม้สดต่าง ๆ  เช่น  มาลัยกลม  มาลัยแบน  มาลัยตัวหนอน  มาลัยลูกโซ่  ฯลฯ

         13.ใช้ในการตกแต่งสิ่งต่าง ๆ  บางโอกาส  เช่น  รัดฐานพระพุทธรูป  รัดธูปเทียนแพ  รัดเอวโกศ  ฯลฯ  ส่วนใหญ่นิยมใช้มาลัยซีก  มาลัยกลม  และมาลัยแบน

         14.ใช้แขวนหรือห้อยหน้ารถ   หัวเรือ   รูปปั้นอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ   หรือสิ่งที่เคารพบูชาต่าง  ๆ  ส่วนใหญ่นิยมใช้มาลัยสองชายหรือมาลัยชายเดียว

         15.ใช้ในการตกแต่งประดับเวที  หรือสถานที่ในงานพิธี  เช่น  ตกแต่งเวทีที่ประทับในงานพระราชทานปริญญาบัตร  ตกแต่งโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงรับรองพิธีใหญ่  ๆ   ตกแต่งโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส  ฯลฯ 

ที่มา
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/uthaithanee/tissana_m/malai/sec01p03.html
http://poopesirinapa.blogspot.com/