13/08/2558

Buddha-image-พุทธศิลป์-ความงดงาม-ของ-ศิลปะ-และวัฒนธรรม

          สวัสดีครับ  วันนี้ขอนำภาพพุทธศิลป์  พระพุทธรูปที่ชาวพุทธได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ  เคารพบูชา


การสร้างพระพุทธรูปมีบันทึกว่ามีการสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยคันธารราฐ
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-7 (ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=29&chap=2&page=t29-2-infodetail01.html )


การสร้างพระพุทธรูปจะยึดตามหลักมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ  แต่จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามยุคสมัย (ตามคติ ความเชื่อของชาวพุทธแต่ละชนชาติ)

ส่วนภาพด้านบนเป็นภาพพระพุทธรูปไม้แกะสลัก ประทับนั่งบนอาสน์มีพญามุจรินทร์นาคราช ปกป้องพระองค์จากแดดฝนในช่วงแห่งการเสวยวิมุตติสุข


พระพุทธรูปองค์นี้ ปางมารวิชัย   โดยมีตำนานเล่าว่า 




ครั้นพระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้า ทรงเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำสมตามอธิษฐานจิตเป็นนิมิตรอันดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาลวันริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับพักพระกายที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์ พอเวลาใกล้สายัณห์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละที่พักกลางวัน เสด็จดำเนินไปสู่ร่มไม้อสัตถโพธิพฤกษ์ พบโสตถิยพราหมณ์ในระหว่างทาง โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใส น้อมถวายหญ้าคา ๘ กำ

พระมหาบุรุษทรงรับหญ้าคาแล้ว เสด็จไปยังร่มไม้อสัตถะในด้านปราจีนทิศ ทรงวางหญ้าคา๘ กำนั้น ลงที่ควงไม้อสัตถะนั้น แล้วทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมะจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้นบัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตระการ ก็บันดาลผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก

ต่อนั้น พระมหาบุรุษก็เสด็จขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ หันพระปฤษฎางค์เข้าข้างต้นโพธิพฤกษ์บ่ายพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก ทรงคู้พระเพลาขัดสมาธิ ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติมั่นด้วย อานาปนสติสมาธิภาวนา แล้วออกพระโอฐดำรัสพระสัตยาธิษฐานบารมีว่า ถ้าอาตมะไม่พ้นอาสวกิเลสตราบใดถึงแม้มาตรว่า หฤทัย เนื้อ หนังจะแห้งเหือด ตลอดถึงเลือดและมันข้นจนทั่วสรีรกาย อาตมะก็จะมิทำลายสมาธิบัลลังก์อันนี้ จะพยายามให้บรรลุเสวยพุทธาภิเษกสมบัติให้จนได้ตั่งพระทัยมั่นหมายพระสัพพัญญุตญาณ

ครั้งนั้น เทพยดาและพรหมทุกสถาน มีท้าวสหัมบดีพรหมและท้าวมฆวานเป็นต้น ก็พากันชื่นชมโสมนัส มีหัตถ์ทรงซึ่งเครื่องสักการบูชาบุบผามาลัยมีประการต่าง ๆ พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษสุดที่จะประมาณเต็มตลอดมงคลจักรวาลนี้

ครั้งนั้น พญามารวัสวดี ได้สดับสัททสำเนียงเสียงเทพเจ้าบรรลือลั่นโกลาหล จึงดำริว่าหน่อพระพุทธางกูรจะล่วงพ้นวิสัยแห่งอาตมะ เป็นการสูญเสียศักดิ์ อันน่าอัปยศอดสูอย่างยิ่ง ควรอาตมะจะไปทำอันตรายให้พระองค์ทรงลุกหนีไปให้พ้นจากบัลลังก์ อย่าให้พระองค์ล่วงพ้นวิสัยไปได้ พญามารมีความพิโรธด้วยกำลังอิสสาจิตครอบงำสันดาน จึงร้องอุโฆษณาการให้พลเสนามารทั้งสิ้นมาประชุมกันพร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะอันแรงร้ายเหลือที่ประมาณ เต็มไปในคัคนานต์ท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างคีรีเมขล์ นิรมิตรมือหนึ่งพันมือถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพมารอันแสนร้ายเหาะมาโดยนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์รัตน์ของพระมหาบุรุษไว้อย่างแน่นหนา

ทันใดนั้น บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาแวดวงถวายสักการบูชาหน่อพระชินศรีอยู่ต่างก็มีความกลัว พากันหนีไปยังขอบจักรวาล ทิ้งให้พระองค์ทรงต่อสู้กับพญามารแต่พระองค์เดียว

เมื่อพระมหาบุรุษพุทธางกูรทรงเปล่าเปลี่ยวเหลียวหาผู้จะช่วยมิได้ จึงตรัสเรียกทวยทหารของพระองค์ ๓o เหล่า กล่าวคือ พระบารมี ๓o ทัศ ด้วยพระคาถาดำรัสว่า อายนฺตุ โภนฺโต อิธ ทานสีลา เป็นอาทิ ความว่า มาเถิดพวกท่านทั้ง ๓o กอง พร้อมกันจับอาวุธรบกับหมู่มารในบัดนี้ ครั้งนั้นบารมีธรรม ๓o ประการ ต่างสำแดงกายให้ปรากฏดุจทหารเกล้า ถืออาวุธพร้อมที่จะเข้าประยุทธ์ชิงชัยกับเสนามาร รอพระบรมโองการประทานโอกาสอยู่เท่านั้น

เมื่อพญามารวัสวดี เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนิ่งไม่หวั่นไหวแต่ประการใด ก็พิโรธสั่งให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์บรรดาสรรพาวุธ ศัตรา ยาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระองค์จนสิ้น ครั้งนั้นพญามารวัสวดีจึงตรัสกะพระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า สิทธัตถะกุมาร บัลลังก์แก้วนี้เป็นของเรา เกิดเพื่อบุญเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่ควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว

พระมหาบุรุษพุทธางกูรเจ้าก็ตรัสตอบว่า "ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมะ ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังเขยยกัปป์จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้นอาตมะผู้เดียวเท่านั้นสมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย"

พญามารวัสวดีทรงโต้แย้งว่า ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้นไม่เป็นความจริง ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้

เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานในที่นั้นได้ จึงตรัสเรียกนางวสุนธราเจ้าแห่งธรณีว่า ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยาน ในการบำเพ็ญกุศลของอาตมะในกาลบัดนี้ด้วยเถิด.

ลำดับนั้น นางวสุนธรา เจ้าแม่ธรณีก็ปรากฏกายทำอัญชลีถวายอภิวาทแล้วเปล่งวาจาประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษได้บำเพ็ญบุญกุศลมามากมายเหลือที่จะนับ แม้แต่เพียงน้ำกรวดที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือเอาเป็นหลักฐานได้ นางวสุนธรากล่าวแล้ว ก็บรรจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำกรวดที่สะสมไว้ แต่เอนกชาติ ให้ไหลออกมาเป็นทะเลหลวง ท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ซัดช้างคีรีเมขล์ ให้ถอยร่นลงไปติดขอบจักรวาล

ครั้งนั้น พญามารตกตะลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิเคยเห็นมาแต่กาลก่อนก็ประนมหัตถ์ถวายมนัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษแล้วก็อันตรธานหนีไป ให้พระมหาบุรุษทรงมารวิชัย กำจัดมารให้พ่ายแพ้ได้เด็ดขาด ตั้งแต่เวลาเย็นพระอาทิตย์ยังมิทันอัสดงคต ด้วยพระไตรทศบารมี.

จบตำนานพระพุทธรูปปางมารวิชัยแต่เพียงนี้
ข้อมูลจากหนังสือ "ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ" นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)
(ขอขอบคุณจาก http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=770:2009-07-17-16-46-05&catid=79:2009-07-17-16-15-34&Itemid=279 )