ชวนท่องเที่ยว เรียนรู้ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ความรู้ทั่วไป เรื่องเล่า เรื่องดี มีสาระ : Let's go together - invite to travel, learn arts, culture, traditions, science, nature, general knowledge, stories, good stories, meaningful : 邀你去旅行,学习艺术、文化、传统、科学、自然、常识、故事、好故事、有意义。: 旅行、芸術、文化、伝統、科学、自然、一般知識、物語、良い物語、意味のあることを学びましょう。: Приглашаем вас путешествовать, изучать искусство, культуру, традиции, науку, природу, общие знания, истории, хорошие истории, осмысленные. #goodstory
27/10/2564
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ชี้อัตราการตายและป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจยังคงมีความรุนแรงและแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้จากข้อมูลการศึกษาของ Thai Registry in Acute Coronary Syndrome (TRACS) พบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจของคนไทยที่เข้ารับการรักษา คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 83.2 ภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 59.5 เบาหวานร้อยละ 50.7 การสูบบุหรี่ ร้อยละ 32.1 และครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 9.3 จึงเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม รวมถึงละเลยต่อการออกกำลังกาย ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพและระบบต่างๆของร่างกาย เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดปัจจัยเสี่ยงข้างต้นควรเริ่มต้นจากความตระหนักและสร้างการรับรู้ถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการลดปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน เพราะหากป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้วผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา การรักษาด้วยบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดต่อเส้นเลือด ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะเส้นเลือดมีโอกาสกลับมาตีบได้อีก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยให้สามารถลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพหัวใจมีดังนี้
1.ผัก ผลไม้สดที่ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ แคนตาลูป
2.ปลา ไก่ (ลอกหนังออก) เนื้อหมู เนื้อวัว (เนื้อสันไม่ติดมัน)
3.ควบคุมปริมาณรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรืออาหารที่มีไขมันสูง
4.ดื่มนมพร่องมันเนยแทนนมจืดธรรมดา หากดื่มนมเปรี้ยว หรือรับประทานโยเกิร์ตควรเลือกที่มีไขมันต่ำ
5.ประกอบอาหารด้วยการต้ม นึ่ง ลวกปิ้ง ย่าง แทนการทอดหรือผัด
6.ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
7.ควรใช้น้ำตาลเทียมหรือสารอื่นที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลทราย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
ที่มาของบมทความและคำแนะนำ
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/125076