19/10/2564

Sequence of Kathin Sammakkee merit-ลำดับขั้นตอน-พิธีการทอดกฐินสามัคคี


  การทอดกฐิน  เป็นพิธีกรรมทำบุญมหากุศลที่พุทธศาสนิกชนนิยมไปร่วมงาน เพราะใน 1 ปี แต่ละวัดจัดงานดังกล่าวได้เพียง 1 ครั้งช่วงหลังออกพรรษาภายใน 1 เดือน (แรม 1 ค่ำเดือน 11 - ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) จัดกาลทาน (ทานที่จะถวายในเวลากำหนด) และการทอดกฐินจะเกิดขึ้นภายในวัดที่มีพระจำพรรษาครบ 3 เดือน และมีพระสงฆ์ ไม่น้อยกว่า 5 รูป  การทอดกฐินเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างบุญบารมีวาสนาให้กับตนเอง ตามคติธรรม  " ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว" 
         การทำบุญทำความดีย่อมมีอานิสงส์ คือการได้รับผลแห่งการทำความดีนั้น การทอดกฐินก็ย่อมมีอานิสงส์ เช่นกัน ดังนี้ 
1. ชื่อได้ว่าถวายทานภายในเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา ๑ เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ใดให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้ 
      2.ชื่อได้ว่าสงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
       3.ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีแก่ประชาชนสืบไป
         4.จิตใจของผู้ทอดกฐิน ๓ กาล คือ ก่อนทอด หรือกำลังทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสในศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตใจเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ 
    5.การทอดกฐินทำให้เกิดความสามัคคีธรรม คือ การร่วมมือร่วมกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วยแล้วย่อมเป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุศาสนสถานให้ยั่งยืนสืบไป  (ที่มาของอานิสงส์กฐิน กรมสิ่งเสริมวัฒนธรรม )

ลำดับพิธีการทอดกฐิน
1. ก่อนการทอดกฐิน  1 วัน จะมีการตั้งองค์กฐิน เพื่อเจริญมงคลและเฉลิมฉลององค์กฐิน

2. วันทอดกฐิน จะมีพิธีกรรม ตามลำดับ ดังนี้ 
- เมื่อถึงกำหนดนัดหมาย พระภิกษุสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชน  พร้อมเพรียงกัน ณ สถานที่ประกอบพิธี
- ประธานในพิธี / เจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย 
- พิธีกร / เจ้าภาพกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ( พุทธศาสนิกชนว่าตาม หรือว่าพร้อมกันก็ได้)

คำบูชาพระรัตนตรัย
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามะ
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามะ
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามะ

อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ  (กราบ 1 ครั้ง)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ  (กราบ 1 ครั้ง)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ  (กราบ 1 ครั้ง)

- ประธานในพิธี / เจ้าภาพ ประเคนตาลปัตร และเทียนปาฏิโมกข์
- พิธีกร / เจ้าภาพกล่าวคำบูชาอาราธนาศีล 5  ( พุทธศาสนิกชนว่าตาม หรือว่าพร้อมกันก็ได้)

คำกล่าวอาราธนาศีล 5
มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง, รักขะนัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง, รักขะนัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง, รักขะนัตถายะ, ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

- จากนั้นกล่าวว่าตามพระสงฆ์ที่ให้ศีล 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ  
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
พระสงฆ์ว่า "ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง"  (พุทธศาสนิกชนรับว่า   " อามะ ภันเต")

คำสมาทานศีล ๕
  ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

    (พระสรุปท้ายศีลว่า)  อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ, สีเลนะ สุคะติง, ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา,  สีเลนะ นิพพุติง ยันติ, ตัสมา สีลัง วิโสธะเย  (พุทธศาสนิกชนรับว่า “สาธุ ภันเต”)

- พิธีกร / เจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐิน 

คำถวายผ้ากฐิน
" อิมัง มะยัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวาจะ, อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานายะจะ ฯ "

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของ ข้าพเจ้าทั้งหลาย และ เมื่อรับแล้วขอจงกรานใช้ กฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์ และ ความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

- เจ้าภาพ และพุทธศาสนิกชน ร่วมประเคนผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ / พระคู่สวด 

- พระภิกษุสงฆ์สวดอปโลกน์กฐิน  4  รูป  และสวดญัตติทุติยกรรม  2  รูป จากนั้นประเคนผ้ากฐินให้กับพระผู้ครองผ้ากฐิน พระสงฆ์จะดำเนินการตัด เย็บ ย้อม และทำพิธีกรานผ้ากฐินในช่วงเย็น และจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันนั้น

- เมื่อพระสงฆ์สวดอปโลกน์กฐินและสวดญัตติ ฯ เสร็จสิ้น  เจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน ร่วมประเคนบริวารกฐิน ปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ (สิ่งของที่นำมาร่วมในงานทอดกฐินทั้งหมด) แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร

- ประธานสงฆ์ แสดงสัมโมทนียกถา (แสดงธรรม) และอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี (ให้พร)

- เจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน กรวดน้ำ  รับพรพระ 

- เจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน  กราบลาพระรัตนตรัย อีกครั้ง 

อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ  (กราบ 1 ครั้ง)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ  (กราบ 1 ครั้ง)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ  (กราบ 1 ครั้ง)

ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการทอดกฐินของฝ่ายฆราวาส   บางแห่งอาจจะมีการถวายภัตตาหารเพล
ก็ดำเนินพิธีกรรมถวายภัตตาหารและประเคนต่อไป